วันพระราชทานธงชาติไทย ​๒๘ กันยายน ครบรอบ ๑๐๕ ปี


27 ก.ย. 2565

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ในพุทธศักราช ๒๔๖๐ เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี ธงชาติไทยในสมัยนั้นจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดความกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ และเรียกธงนี้ว่า “ธงไตรรงค์” และทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทย ถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรักสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้วัฒนาสถาพร

คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเริ่มในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

และวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ นับเป็นวันครบรอบ ๑๐๕ ปีของการพระราชทานธงชาติไทย สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่ ๕๔ ของโลก ที่มีวันธงชาติ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา