ส่องโครงการ 6.5 พันล้านขยายคลอง ร.1 เพิ่มการระบายน้ำปกป้องพื้นที่ไข่แดง (มีคลิป)


6 ก.ค. 2559

00.jpg

หาดใหญ่ กับน้ำท่วมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานานและเกิดขึ้นแทบทุกปีหนักบ้าง เบาบ้างตามแต่ปริมาณฝนในแต่ละปีโดยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ทุกคนยังจำกันได้นั่นคือปี 2531 และปี 2543 ภายหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 43 นั่นเองทำให้เกิดโครงการขุดคลองระบายน้ำตามแนวพระราชดำริในหลวงที่ทรงพระราชทานไว้ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2531 และเป็นที่มาของคลองสายต่างๆ ในหาดใหญ่รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้นโดยมีกรมชลประทาน เป็นแม่งานหลักในการดำเนินโครงการ

โดยคลองสายสำคัญที่สุดนั่นคือคลองระบายน้ำที่ 1 หรือคลอง ร.1 เริ่มต้นจากบ้านหน้าควนลัง แบ่งเบาน้ำจากคลองอู่ตะเภาก่อนไหลเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ และไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบสงขลา ช่วงรอยต่อ ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง และ ต.บางกล่ำ อ.บางกล่ำ รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2550 หาดใหญ่ก็ยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกในปี 2553 จึงเป็นที่มาของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) 

[video-0]

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณดำเนินโครงการ 6,500 ล้านบาท (ข้อมูล http://kromchol.rid.go.th)เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญของโครงการอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิม 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลดระดับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงฤดูฝนในพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 5.0 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยการเปลี่ยนแปลงของคลองร.1 ที่เกิดขึ้นอธิบายง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านคือเปลี่ยนจากคลองปัจจุบันที่เป็นรูปตัววีมีทั้งพื้นผนังคอนกรีตและดินธรรมชาติ เป็นคลองระบายน้ำรูปตัวยูมีพื้นและผนังคอนกรีตตลอดสายคลอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงหน้าฝนและป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงหน้าแล้ง ช่วยให้ชาวบ้านปลายคลองสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้ในช่วงหน้าแล้ง การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องบอกว่าเป็นโครงการที่ใหญ่และอลังการมาก มีการขยายคลองช่วงปลายคลองให้กว้าง 100 เมตร ลึก 7 เมตร ช่วงต้นและกลางคลองกว้าง 70 เมตรลึก 7 เมตร รวมถึงการปรับปรุงประตูระบายน้ำและอาคารประกอบต่างๆ ใหม่หมด

IMG_5751.JPG

โดยขณะนี้การดำเนินการสร้างส่วนใหญ่อยูในช่วงปลายคลองในเขตอำเภอบางกล่ำเป็นหลัก ซึ่งโครงการขยายคลองร.1 มีสัญญาจ้างรวม 4 สัญญา ประกอบด้วย 
- สัญญาที่ 1 ของบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ภายใต้วงเงิน 1,346 ล้านบาท เริ่มสัญญา 7 มิ.ย.58 สิ้นสุดสัญยา 18 พ.ค.61  
- สัญญาที่ 2 ของบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ภายใต้วงเงิน 859 ล้านบาท เริ่มสัญญา 18 พ.ค.59 สิ้นสุดสัญญา 2 พ.ค.62
- สัญญาที่ 3 ของบริษัท เพิ่มพูนวิศวกรรม จำกัด ภายใต้วงเงิน 798.19 ล้านบาท เริ่มสัญญา 12 มิ.ย.59 สิ้นสุดสัญญา 26 เม.ย.62
- สัญญาที่ 4 ของบริษัท ชัยเจริญไมตรีจิตร จำกัด ภายใต้วงเงิน 709 ล้านบาท เริ่มสัญญา 28 พ.ค.59 สิ้นสุดสัญญา 2 พ.ค.62 

(ข้อมูล นสพ.สมิหลาไทมส์ 21-30 มิ.ย.59)

การเปลี่ยนแปลงของคลองร.1 หลังจากนี้สิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นนั่นคือความใหญ่อลังการของคลองร.1 มองจากขอบคลองจะเป็นหน้าผาลึกลงไปไม่ใช่พื้นลาดเอียงแบบในอดีต ผนังและพื้นคลองตลอดสายเป็นแนวคอนกรีต ถนนเลียบคลองจะมีรั้วกันที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นส่วนผิวจราจรของถนนเลียบคลองคงจะได้รับการแก้ไขให้ดีกว่าในปัจจุบัน การขยายคลองอาจกระทบต่อพื้นที่บางส่วนเช่น พื้นที่คิวรถตู้ตลาดเกษตรหาดใหญ่ใน พื้นที่ประมงของชาวบ้าน รวมถึงพื้นที่ริมคลองที่หลายร้านอาหารใช้เป็นที่นั่งของลูกค้าคงต้องเคลื่อนย้ายออกเมื่อการดำเนินโครงการขยับมาถึง

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นและชาวบ้านได้รับโดยตรงในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองช่วงหน้าแล้งและดินโคลนช่วงหน้าฝนในระหว่างการก่อสร้าง ปัญหาการก่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์ใกล้แหล่งผลิตน้ำประปาของชาวบ้าน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวชาวบางกล่ำได้มีการร้องเรียนยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา และมีการสั่งการให้ผู้รับเหมาเพิ่มการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านให้มีน้อยที่สุด โครงการบรรเทาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านรอบนอก โดยเฉพาะพื้นที่ปลายคลองร.1 ที่ต้องรับผลกระทบจากการระบายน้ำแทนคนเมืองไปเต็มๆ

ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกรมชลประทาน ก็คงไม่ได้ละเลยเมื่อโครงการขยายคลองร.1 แล้วเสร็จ น้ำในช่วงหน้าฝนก็จะไหลบ่าท่วมพื้นที่ของปลายคลองลดลง ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็สามารถใช้น้ำจากคลองร.1 ในภาคการเกษตรโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการไหลเข้ามาของน้ำเค็มและน้ำกร่อยในทะเลสาบสาบสงขลา เชื่อว่าจะเพิ่มพื้นที่การเกษตรปลายคลองได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีทุกโครงการที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ 

IMG_5741.JPG

สุดท้ายแล้วโครงการนี้เป็นเพียงการบรรเทาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่เท่านั้น เมื่อโครงการแล้วเสร็จก็ไม่ได้การันตีว่าหาดใหญ่น้ำจะไม่ท่วม เพราะวันนี้พื้นที่ระบายน้ำธรรมชาติลดลงจากการรุกรานของมนุษย์ คลองหลายสายกลายเป็นบ้านจัดสรร สะพานหลายจุดมีแต่สะพานแต่คลองหาย โครงการใหม่ๆ แข่งกันถมที่ให้สูงกันเข้าว่าอย่างเดียว คูระบายน้ำเต็มไปด้วยขยะและเศษดินโคลน ระบบระบายน้ำเขตเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสียงของการเกิดปัญหา "น้ำระบายไม่ทัน" น้ำรอระบาย" "น้ำไม่มีที่ไป" สุดแล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไรแต่มันก็คือน้ำท่วมดีๆ นี่เองครับ

ทีมงานเว็บกิมหยง นำภาพการก่อสร้างคลองร.1 ในช่วงเวลาต่างๆ มาฝากให้ได้ติดตามกันด้วยครับ

30-6-2559 9-57-48.png30-6-2559 9-58-59.png30-6-2559 9-59-59.png30-6-2559 10-01-24.pngIMG_5714.JPGIMG_5718.JPGIMG_5719.JPGIMG_5722.JPGIMG_5725.JPGIMG_5757.JPGIMG_5773.JPGIMG_5778.JPGIMG_5782.JPGIMG_5787.JPGIMG_5800.JPG14.jpg