เห็นชอบผ่านฉลุย-เก็บตกหลังลงประชามติของชาวสงขลา อ.ไหนใช้สิทธิ์มาก-น้อยสุด
ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนจังหวัดสงขลา 7 สิงหาคม 2559 มีประเด็นที่น่าสนใจและรวบรวมให้ได้ติดตามกัน ดังนี้
ผู้มีสิทธิ์ลงประชามติ 1,038,904 ราย
มาใช้สิทธิ์ 656,640 ราย (63.21%)
ไม่มาใช้สิทธิ์ 382,264 ราย (36.79)
ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ
- เห็นชอบ 506,752 ราย (79.25%)
- ไม่เห็นชอบ 109,283 ราย (17.09%)
- บัตรเสีย 17,209 ราย (2.62%)
ประเด็นที่ 2 ประเด็นเพิ่มเติม รธน.(ให้ สว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก)
- เห็นชอบ 475,959 ราย (74.44%)
- ไม่เห็นชอบ 117,052 ราย (18.31%)
- บัตรเสีย 17,209 ราย (2.62%)
ลำดับการออกมาใช้สิทธิลงประชามติของ 16 อำเภอ
1.นาหม่อม 71.37%
2.จะนะ 69.84%
3.นาทวี 68.57%
4.เทพา 67.63%
5.คลองหอยโข่ง 66.48%
6.บางกล่ำ 66.47%
7.กระแสสินธุิ์ 65.53
8.สะบ้าย้อย 65.03%
9.ควนเนียง 64.94%
10.สทิงพระ 64.82%
11.รัตภูมิ 63.41%
12.สิงหนคร 62.38%
13.เมืองสงขลา 60.52%
14.หาดใหญ่ 59.80%
15.ระโนด 59.59%
16.สะเดา 59.03%
หมายเหตุ : รวมคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดด้วย ที่มา กกต.สงขลา รวบรวม Gimyong.com
ถ้าดูกันตามจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ซึ่งกกต.สงขลา ตั้งเป้าไว้ที่ 80% ดูแล้วคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายไปเยอะมากอย่างไรก็ตามเมื่อดูสถิติทั้งประเทศจังหวัดสงขลายังติด 1 ใน 10 ของจัหงัวดที่มีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติและไมพบการกระทำผิดใดๆ ในพื้นที่ด้วย ขั้นตอนจากนี้ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการแล้ว ภายใน 30 วัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามเพิ่มเติม เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 30 วัน หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วไม่สอดคล้อง จะส่งคืนให้ กรธ.ภายใน 15 วัน เพื่อปรับแก้ไขให้สอดคล้อง จากนั้นจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลฯ ทรงลงพระปรมาภิไธภายใน 30 วัน เพื่อประกาศใช้
จากนั้น กรธ.จะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาภายใน 60 วัน และส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 10 ฉบับ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า จากกรอบเวลาในร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2561 ส่วนการเริ่มสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะดำเนินการภายใน 15 วัน ก่อนเลือกตั้ง (ที่มา กรมประชาสัมพันธ์)
เล่าสู่กันฟังควันหลงหลังลงประชามติ
การลงประชามติในครั้งนี้ผมยังมีชื่อในเขตที่เลือกตั้ง หมู่ที่ 5 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ ได้โอกาสกลับบ้านและใช้สิทธิลงประชามติก่อนเดินทางกลับมาเพื่อให้ภรรยามาลงประชามติในพื้นที่โรงเรียนบ้านคลองหวะ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ ขากลับมีอุบัติเหตุบนถนนสายเอเชียขาล่องก่อนถึง ม.หาดใหญ่ รถติดอยู่ประมาณชั่วโมงเศษจากแดดร้อนกลายเป็นฝนตกลงมาอย่างหนักหน่วยเลือกตั้งจากหน้าอาคารเรียนต้องย้ายไปอยู่ในห้องเรียนโรงเรียนบ้านคลองหวะ เวลาประมาณ 16.00 น.นิดๆ ฝนยังตกอยู่เลยถือโอกาสเดินดูการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งที่ 34 และ 35 ภายในโรงเรียนบ้านคลองหวะในฐานะประชาชนผุ้สนใจการเมืองคนหนึ่ง
ไปยืนดูและเก็บภาพหน่วยเลือกตั้งที่ 35 ซึ่งมีคนไปดูการนับคะแนนเพียง 3 คนนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ ก่อนกลับเดินมาหน่วยเลือกตั้งที่ 34 ตั้งใจจะเก็บภาพพอจะยกกล้องนายตำรวจที่คุมการเลือกตั้งบอกว่าถ่ายไม่ได้ ห้ามถ่ายนะครับ ตอนแรกก็งงๆ ว่าจะขอคุยสอบถามเหตุผลว่าผิดข้อไหนมาตราไหนเพราะติดตามการเลือกตั้งทุกประเภทมาทั้งชีวิตไม่เคยเจอคำสั่งห้ามถ่ายจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเลย ไม่อยากให้ จนท.เสียเวลาไม่ให้ถ่ายก็ไม่เป็นไรท่านผู้ถือกฎสงสัยจะคิดกติกาเอาเองว่าห้ามถ่าย หรือท่านยังไม่ได้หวีผมเลยไม่อยากให้ถ่ายกลัวภาพออกมาไม่หล่อ ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจก่อนเดินกลับมาติดตามข่าวการลงประชามติที่บ้านแบบงงๆ
สุดท้ายก็ขอเอาใจช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ กฎหมายสามารถกำจัดนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างจริงจังและเด็ดขาด รวมถึงประชาชนทุกคนต้องร่วมกันปฏิวัตินักเลือกตั้งให้หมดไปจากสารบบการเมืองไทย ถึงเวลาเลือกคนดี คนกล้า คนเก่ง มาพัฒนาบ้านเราขอให้หมดยุคเงินไม่มากาไม่เป็นนะครับ