หมอสุภัทร-กำนันตำบลคู ปลุกชาวบ้านรวมพลังบรมต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน (มีคลิป)


10 พ.ย. 2559

นายสุเดช หลีเหร็ม กำนันตำบลคู อ.จะนะ จ.สงขลา นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ผนึกกำลังปลุกชาวบ้านตำบลคูร่วมกันต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ กำนันย้ำเจ้าของโครงการไม่จริงใจที่จะชี้แจงผลกระทบที่ชัดเจนแถมยังจัดเวทีรับฟังความเห็นไกลจากพื้นที่ก่อสร้างมาก ส่วนหมอสุภัทร ถามมีโรงไฟฟ้าจะนะอยู่แล้ว แถมยังจะสร้างที่เทพาอีกพลังงานภาคใต้ยังไม่พออีกหรือแนะนำชาวบ้านตรึกตรองให้ดีมีโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วชาวบ้านได้อะไร 

IMG.jpg

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการกำนันตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายสุเดช หลีเหร็ม กำนันตำบลคู เชิญชวนชาวบ้านประมาณ 300 คนมาร่วมประชุมบรมต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 25 เมกกะวัตต์ของบริษัท จะนะกรีน จำกัด ซึ่งจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวบ้านครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 พ.ย.59 ณ ศาลาประชาคมบ้านทุ่ง ม.6 ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา  โดยกำนันให้เหตุผลว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังผลิต 25 เมกกะวัตต์ ขึ้นในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลคู อำเภอจะนะ จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในตำลคูและข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งมัสยิด โรงเรียน วัด และชาวบ้านทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ปัญหาน้ำเสีย กระทบต่อลำคลองและวิถีชุมชนประมงในพื้นที่ ปัญหาขาดน้ำเพราะโรงไฟฟ้าจะใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการผลิต ปัญหาน้ำท่วมจากกการถมพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ของโครงการ

และที่สำคัญที่ตั้งโครงการ อยู่ห่างจากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่มีนักเรียนและบุคลากรเกือบ 1,000 คน เพียง 100 เมตรเท่านั้น เชื่อว่าหากโครงการเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อบุตรหลานชาวจะนะแน่นอนทั้งเสียงดังรบกวน ควันและมลพิษที่เกิดขึ้นตามมา และยังรวมถึงการเข้ามาของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในการขนส่งเศษไม้เพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้า และทำสำคัญอำเภอจะนะ มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1,500 เมกกะวัตต์ของ กฟผ.อยู่ในพื้นที่แล้ว และยังมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกกะวัตต์อีก จึงมีคำถามวว่าทำไมต้องให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนมารบกวนชาวบ้านอีก   

ทางด้านนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมประชุมว่า พลังของชุมชนคือสิ่งสำคัญที่สุดในการให้คำตอบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนที่บางครั้งไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ วันนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลขุนตัดหวายขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านข้างเคียงแล้ว การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาด 25 เมกกะวัตต์ต้องใช้ไม้ยางพาราในกระบวนการผลิตวันละ 800 ตันหรือ 50 รถสิบล้อ ใช้น้า 2.2 ล้านลิตร

[video-0]

ถามว่าพื้นที่ 126 ไร่ของจะนะกรีน เขาคงไม่มีเป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแค่โรงเดียวเท่านั้นหากโรงที่ 1 ประสบความสำเร็จก็ต้องขยายโรงที่ 2-3 ตามมาเพราะเขาเตรียมพื้นที่ไว้ค่อนข้างเยอะ หากถามว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้อะไร คำตอบที่ว่าได้งานทำได้เศรษฐกิจชุมชน ถามว่าได้กี่คนได้ในตำแหน่งอะไรและคุ้มค่าหรือไม่กับทรัพยากรที่เราสูญเสีย มลพิษที่ชาวชุมชนต้องรับไปตลอด น้ำท่วม น้ำเน่าเสีย วิถีชุมชนถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้อง เพราะวันนี้แค่โรงไฟฟ้าจะนะ ไฟฟ้าก็ใช้เกินพอแล้วสำหรับจังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็เกิดขึ้นอีกแล้วทำไมต้องมีโรงไฟฟ้าชีวมวล  

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท จะนะกรีน จำกัด ชาวบ้านในตำบลคูมีการเคลื่อนไหวคัดการมาตลอดจนเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายไม่เห็นด้วยจนเป็นชนวนเหุตของความขัดแย้งภายในชุมชน และในวันที่ 12 พ.ย.59 จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวบ้านอีกครั้ง ณ มัสยิดบ้านทุ่ง ม.6 ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่กำนันบอกว่าแสดงถึงความไม่จริงใจของโครงการ เพราะพื้นที่ก่อสร้างมีทั้งดรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนบ้านโหนด ซึ่งมีสถานที่กว้างขวางและอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่กลับไปจัดเวทีนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม 12 พ.ย.นี้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยก็จะไปรวมพลังคัดค้านเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนตำบลคู

IMG_2872.jpgIMG_2882.jpgIMG_2915.jpgIMG_2937.jpgIMG_2901.jpg