ฝนชุดแรกกับบทพิสูจน์ประสิทธิภาพการระบายน้ำเมืองหาดใหญ่
เมื่อช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมอบรมการเขียนบทความเกี่ยวกับภัยธรรมชาติในเขตเมืองหาดใหญ่กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผมเลือกหัวข้อบทความที่จะเขียนว่า อยู่หาดใหญ่ทำไมต้องกลัว? “น้ำท่วม” โดยมีเนื้อหาสาระของบทความ ดังนี้
หาดใหญ่ เมืองท่าเศรษฐกิจภาคใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมจนได้รับสมญาว่าที่นี่คือ “เมืองหลวงของภาคใต้” แต่ในความศิวิไลซ์เมืองหาดใหญ่ก็ยังมีปัญหาที่ให้ได้ลุ้นได้ติตามกันทุกปีนั่นคือ “น้ำท่วม”
ด้วยชัยภูมิที่ตั้งของเมืองหาดใหญ่ ที่เป็นแอ่งกระทะมีคลองอู่ตะเภาเป็นคลองสายหลักที่รับน้ำจากป่าต้นน้ำอำเภอสะเดา คลองหอยโข่ง หาดใหญ่ นาหม่อม บางกล่ำ มีห้วย หนอง คลอง บึงสาขามากมายรวมถึงน้ำจากเขาคอหงส์ ล้วนต้องไหลผ่านเมืองหาดใหญ่ก่อนไปสู่ทะเลสาบสงขลา
จากประวัติศาสตร์ที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่าหาดใหญ่ ไม่สามารถหลีกหนีน้ำท่วมได้ในช่วงหน้าฝนของทุกปีคนหาดใหญ่จึงต้องรอลุ้นกันว่าน้ำจะท่วมไหม ท่วมหนักไหม จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ชัดเจนพบว่าหาดใหญ่เคยเผชิญกับน้ำท่วมหนักมาแล้ว 3 รอบ นั่นคือในปี 2531 2543 และ 2553 ซึ่งมูลค่าความเสียหายในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
แม้หน่วยงานต่างๆ จะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำที่ 1-6 โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีได้ว่าเมืองหาดใหญ่จะปลอดภัยจากน้ำท่วม 100% ทำได้เพียงแค่ป้องกันและบรรเทาเท่านั้น
วันนี้จากการเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่อง การรุกล้ำที่อยู่ของน้ำคลองบางสายหายไปกลายเป็นอาคารบ้านเรือนแทน ธรรมชาติของน้ำไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ น้ำสามารถสอดแทรกได้ทุกรูที่มีช่องว่าง พื้นที่ที่ไม่เคยเจอน้ำไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีน้ำท่วม คูระบายน้ำอุดตัน น้ำไหลไม่ทัน น้ำรอระบายล้วนเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตเราแทบทั้งสิ้น
เมื่อเราไม่สามารถการันตีได้ว่าหาดใหญ่จะปลอดภัยจากน้ำ การเตรียมตัวเองให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝนการจัดเก็บบ้านเรือน จัดเก็บสิ่งของไม่จำเป็น ภาคธุรกิจควรชะลอการกักตุนสินค้าที่ไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุดหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา
การศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับอากาศและทิศทางการไหลของน้ำ รวมถึงแบ่งปันความรู้สู่คนรอบข้างเพื่อให้ทุกคนได้รับความรู้และร่วมกันเป็นเกราะป้องกันภัยให้กันและกัน เมื่อวันนั้นมาถึงเราก็คงไม่ต้องมานั่งกุมขมับรับสภาพความเสียหายแบบตั้งรับไม่ทัน
เพราะธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ตัวเราสามารถเรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติให้มีความสุขได้ การเตรียมตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เทศบาล จังหวัด ชลประทาน รัฐบาล ก็ไม่มีหน่วยงานไหนสำคัญเท่าตัวเราเอง ดูแลตัวเองให้พร้อมเพื่อที่จะได้ช่วยดูแลคนรอบข้าง ดูแลสังคม และเป็นกำลังสำคัญไม่ใช่เป็นภาระของประเทศชาติเพียงอย่างเดียว
ข้างต้นคือเนื้อหาสาระของบทความทั้งหมด มาถึงวันนี้ 1 ธันวาคม 2559 สถานการณ์ฝนในหาดใหญ่ลงมาชุ่มฉ่ำตั้งแต่ค่ำคืนจนถึงช่วงเที่ยงก็ค่อยๆชะลอลง เปลี่ยนเป็นตกหนักเป็นช่วงๆ ซึ่งข้อมูลจากอุตุฯ สั่งให้มีการเฝ้าระวังกันจนถึงวันที่ 4 ธันวาคมสำหรับฝนระลอกแรก
เพียงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีการนำเสนอกันไปแล้วสำหรับภาพข่าวสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองหาดใหญ่ วันนี้ประสิทธิภาพการระบายน้ำเขตเมืองได้รับการแก้ไขในหลายจุด อาทิ หน้าเทคนิคหาดใหญ่มีการทำอุโมงส่งน้ำไปลงคลองร.5 คลองเตย คลอง30เมตร มีการสร้างสะพานใหม่ที่หน้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
สำหรับผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำขอให้ทุกท่านตระหนักในการดูแลความปลอดภัยของตัวเอง รับฟังข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ ติดตามข่าวสารด้วยตนเองจากช่องทางต่างๆ อาทิ กล้องส่องระดับน้ำที่ http://www.hatyaicityclimate.org พยากรณ์อากาศ http://www.songkhla.tmd.go.th วิทยุม.อ. http://www.psuradio88.com สายด่วนเทศบาลนครหาดใหญ่ 074-200000 ขอให้ทุกท่านปลอดภัยตลอดหน้าฝนนะครับ
ต้อม รัตภูมิ wwww.Gimyong.com รายงาน ขอบคุณภาพบางส่วนจาก สวท.สงขลา