กฟผ.เปิดเวทีเสวนา มั่นใจเสียงส่วนใหญ่หนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (มีคลิป)


28 ธ.ค. 2559

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จัดเสวนา"เหลียวหลังแลหน้า สู่การพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้" ชี้ความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ยืนยันโรงไฟฟ้าเทพาต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมให้ความมั่นใจเมื่อโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และพร้อมจะดูแลชุมชนอย่างดีที่สุด

94.jpg

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ณ วิทยาลัยชุมชนสงขลา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กฟผ. ได้จัดเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า สู่การพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้" ขึ้นโดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ  นายรัตนชัย นามวงศ์ อดีตรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า นายพล คงเสือ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย นายมนตรี ศรีสมอ่อน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ และนายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา มีหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ชุมชนอำเภอเทพา เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน 

โดยหัวข้อของการเสวนากล่าวถึง ความจำเป็นในการพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาคใต้ซึ่งขณะนี้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 2,697 เมกะวัตต์ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านความต้องการอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ต่อปี โดยการใช้ไฟสูงสุดอยู่ที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งกำลังผลิตของแหล่งพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้มีเพียง 3,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่สามารถเดินเครื่องได้ 100% ทุกโรง เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางแห่งต้องปิดปรับปรุง ซ่อมแซมบำรุงรักษา ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และต้องปล่อยน้ำตามความต้องการทางด้านชลประทานเป็นหลัก 

ดังนั้น กำลังผลิตจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงจำเป็นต้องดึงไฟฟ้าจากภาคกลาง ซึ่งในปี 2566 กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคกลางจะไม่สามารถส่งมาช่วยในพื้นที่ภาคใต้ได้อีก จะทำให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ กฟผ. จึงได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลให้หาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีความเหมาะสมจึงทำให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าเทพาขึ้น

โดยโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีมาตรการควบคุมการดูแลผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และเมื่อโรงไฟฟ้าเทพา เกิดขึ้นจะทำให้อำเภอเทพา พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาคารจำหน่ายสินค้า OTOP พื้นที่สวนน้ำ วสนสนุก สนามฟุตบอล สนามแข่งนกเขา มัสยิด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน พร้อมทั้งยืนยันว่า กฟผ. ยังคงมุ่งมั่น พัฒนาโรงไฟฟ้าเทพาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเดินหน้าในรูปแบบเดิมต่อไป ทั้งนี้อยากให้ชาวเทพาแสดงสิทธิเพื่อที่จะมีโอกาสได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อมีโรงไฟฟ้าเทพาเกิดขึ้นก็จะมีกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท ทำให้สามารถนำงบประมาณดังกล่าวไปพัฒนาคุณภาพในด้านการศึกษา สุขภาพ ด้านอาชีพ และด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

[video-0]

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กล่าวว่า "เมื่อโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จก็จะมีกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าขึ้นมาโดยมีการบริหารงานแบบไตรภาคี ซึ่งกองทุนดังกล่าว นอกจากจะดูแลในด้านคุณภาพชีวิตแล้วยังดูแลในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกองทุนนี้มีขึ้นตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ จึงทำให้มั่นใจได้ นอกจากนั้น กฟผ. จะดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถ้าหากเกินกว่ามาตราฐาน กฟผ. จะต้องลดกำลังการผลิตหรืออาจจะต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และ กฟผ. ยังมีไตรภาคีซึ่งมีชุมชนร่วมตรวจสอบอยู่ด้วยชาวบ้านจะรับทราบการดำเนินงานของ กฟผ. อยู่ตลอดเวลา โรงไฟฟ้าเทพา ได้แบ่งพื้นที่ไว้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไว้ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถใช้ส้อยได้ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สวนน้ำ สนามฟุตบอลมีไว้ให้ออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการผลิตไฟฟ้าก็สามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปชมการเดินเครื่องได้เช่นกัน"

นายรัตนชัย นามวงศ์ อดีตรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กล่าวว่า "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีจริงในต่างประเทศใช้มาหลายสิบปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งคำว่า สะอาด หมายถึง การทำให้มลสารที่ออกมามีค่าต่ำการที่กฎหมายแต่ละประเทศได้กำหนดไว้ และไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งโรงไฟฟ้าเทพาจะพิเศษกว่าโดยมีเครื่องกำจัดสารปรอท ซึ่งโรงไฟฟ้าในต่างประเทศบางแห่งยังไม่มี นั้นแสดงให้เห็นว่า กฟผ. มีความใส่ใจต่อชุมชน ดังนั้นโรงไฟฟ้าเทพาถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ใช้เทคโนโลยีที่ใหม่และดีที่สุด ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีในปัจจุบัน"

ด้านนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย กล่าวว่า"ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งเมื่อเทียบกับภาคอื่นคิดเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่า ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาให้พลังงานในภาคใต้ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนมีพัฒนาไปส่วนหนึ่งแล้วจึงมองไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่ง กฟผ. เห็นว่าพื้นที่เทพาเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ด้วย ซึ่ง กฟผ. ได้มีการพูดคุยรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากชุมชนว่าต้องการอย่างไร กฟผ. ทำได้แค่ไหน อย่างไร ซึ่งเท่าที่เห็นชาวอำเภอเทพามีความเข้าใจและยอมรับเป็นอย่างดี รู้สึกดีใจที่ชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นจริงๆ เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา แต่จะทำอย่างไรให้สะท้อนถึงภาครัฐว่า คนในพื้นที่เห็นด้วย ถ้าชุมชนร่วมกันสนับสนุน กฟผ. เดินตามไปด้วยกัน ปีที่คาดว่าโรงไฟฟ้าและเสร็จและสามารถจ่ายไฟเข้าในระบบคือ 2567"

98.jpg95.jpg96.jpg93.jpg97.jpg92.jpg91.jpg