ปลาพลวงชมพู กก.2.5พัน พัฒนาจากธรรมชาติสู่บ่อเลี้ยงสร้างรายได้คนชายแดนใต้
ม.อ. ร่วมกับกรมประมง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าวความก้าวหน้าของการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการขยายพันธุ์ ปลาพลวงชมพู (ปลากือเลาะห์) ซึ่งเป็นปลาหายากราคาสูงอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายบุรี เพื่อสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่าได้มีการจัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู (ปลากือเลาะห์) ราชาแห่งแม่น้ำสายบุรี เพื่อสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะสร้างอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแนวทางหนึ่งคือการสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพู หรือ ปลากือเลาะห์ ซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองที่มีราคาสูงแต่ไม่สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยง เพียงแต่มีการจับลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยง เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการก็นำไปจำหน่าย ซึ่งหากสามารถทำการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพูได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเคยให้มีการอนุรักษ์ปลาพันธุ์นี้ให้คงอยู่ และควรส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าโครงการวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพู กล่าวว่า ปลาพันธุ์ดังกล่าวเป็นปลาประจำถิ่นพบในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นปลาที่มีรสชาติดี ราคาในไทยกิโลกรัมละ 2,500 บาท แต่ที่ฮ่องกงราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8,000 บาท นับเป็นปลาที่มีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แต่นับวันยิ่งจะมีปริมาณลดลงด้วยสาเหตุจากการขยายตัวของชุมชน การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตร การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการจับลูกปลาเพื่อจำหน่ายในธุรกิจตลาดปลาสวยงาม ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาการเพาะอนุบาล เช่น การขยายพันธุ์โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นช่วยให้แม่ปลาตกไข่ พร้อมกับทำให้ลูกปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอกว่าลูกปลาที่เกิดจากการผสมกันเองตามธรรมชาติ และได้ลูกปลารุ่นเดียวกันจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการนำไปอนุบาลต่อและสามารถประเมินปริมาณลูกปลาได้แม่นยำ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
[video-0]
“ ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำสะอาด อุณหภูมิระหว่าง 22-25 องศาเซลเซียส และยังเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ หากจะนำมาเป็นปลาเลี้ยงเพื่อจำหน่ายจะต้องมีการปรับบ่อเลี้ยงปลาและการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้ปลาในรุ่นต่อๆ ไป ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากปลาที่เคยอยู่ตามธรรมชาติเป็นปลาเลี้ยง ซึ่งการร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมประมงแล้ว จะต้องอาศัยความร่วมมือกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่น คณะวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ กล่าว