เปิดโฉม เมกะโปรเจค คลองไทย ที่สงขลา เกิดไม่เกิดต้องติดตาม
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการจัดงาน เสวนา“คลองไทย...พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร” โดย มีรศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ม.อ.กล่าวรายงาน มีผู้สนใจเข้าฟังการเสวนาประมาณ 500 คน
ในช่วงแรกของการงาน นายวิรวัฒน์ แก้วนพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน และรศ.ดร.สถาพร เขียววิมล นักวิชาการด้านคลองไทย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาความเป็นไปได้โครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา นำเสนอ เรื่องราวของคลองไทยบนเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่การค้าโลก
สำหรับ โครงการขุด "คลองไทย" โดยนำข้อมูลจากการศึกษาของทุกคณะในอดีตที่ผ่านมา มาประเมินแล้ว รวมทั้งมีการลงพื้นที่หลายครั้ง ก็พบว่า เส้นทางที่เหมาะสมในการขุด "คลองไทย" มากที่สุดคือ เส้นทาง 9A จาก ระโนด สงขลา- ควนขนุน พัทลุง- นครศรีธรรมราช -กันตัง ตรัง- อ่าวน้อยกระบี่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพป่าน้อยที่สุด แต่ก็พาดผ่าน ส่วนหนึ่งของ ลุ่มน้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง พรุควนเคร็ง ผ่านชุมชนในบางจุด แต่ถือว่า เป็นเส้นที่มีสร้างผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะเป็นการร่วมทุนของหลายชาติ โดยเฉพาะ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สเปน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ที่แสดงความสนใจ โดยใช้เงินทุน ราว 48,000 เหรียญสหรัฐฯ ใช้เวลาขุด 6 ปี
ทั้งนี้จากแผนรองรับตามโครงการนี้ จะมีการนำ ดินที่ได้จากการขุดคลองไทยปริมาณดิน จากการขุด ราว 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปถม ทำเกาะเทียม 2 เกาะ ที่ฝั่งอ่าวไทย คือที่. จ.สงขลา และฝั่งอันดามัน ที่ จ.กระบี่ โดยจะเรียกว่าเป็น "เกาะเหนือ" และ เกาะใต้ โดย เกาะเหนือ ถมเกาะได้ พื้นที่ 83 ตร.กม. โดยมีแผนทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ทะเล สนามกอล์ฟ โรงแรมใหญ่ สวยงาม โดยจัดทำเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ส่วนเกาะใต้ ฝั่งอันดามันที่กระบี่ จะถมเกาะได้พื้นที่ 84 ตร.กม. โดยจะทำเป็นท่าเรือน้ำลึก โซนโลจิสติก สถานีขนส่ง และคลังสินค้า
ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ นี้ จะมีการสร้าง สะพานเชื่อม 2 ฝั่งของ คลองไทย จำนวน 4 สะพาน และ 5 อุโมงค์ โดยเป็น สะพานแขวน สำหรับรถยนต์และสะพานรูปโค้ง ด้านบน สำหรับ รถไฟสายใต้ และอุโมงค์ลอดใต้คลองสาขา ถนน 3ช่องจราจรแยกไปกลับ ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า เนื่องจาก ช่องแคบมะละกา ในปัจจุบัน มีความหนาแน่น เรือสินค้าผ่าน 8 หมื่นลำต่อปีหรือคิดเป็น 6.6นาทีต่อลำ และคาดว่า ในอีก5ปีข้างหน้า จะไม่สามารถรองรับปริมาณเรือที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้การขุด "คลองไทย" จะทำให้สามารถ ลดระยะเวลา เดินทางได้ 700 Kmหรือราว 40 ชม.
จากนั้นเป็นการเสวนา “คลองไทย..พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร โดย นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายสุมิตร กาญนัมพะ รองประธานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.สงขลา นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง สงขลา รศ.ดร.สถาพร เขียววิมล นักวิชาการด้านคลองไทย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาความเป็นไปได้โครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย)วุฒิสภา ปิดท้ายด้วยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็น ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิพัฒน์ ชูโต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มีความเห็นว่า หากจะมีการขุดคลองในอนาคต ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ทั้งในด้านการวางกฎระเบียบเพื่อการจัดการคลองไทย ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน ด้านการจัดการผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาคนในพื้นที่เพื่อรองรับการค้า การลงทุน และกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ด้านการจัดการศึกษาเพื่อรองรับกับอาชีพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งด้านการจัดการด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องนำไปศึกษาอย่างจริงจัง และนักวิชาการในพื้นที่ก็จำเป็นจะต้องทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อให้ประเทศ และประชาชนในภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่คลองไทย ได้มีข้อมูลในมิติที่หลากหลายและรอบด้าน สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจบนฐานของข้อมูลและความรู้
“การเสวนาวันนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้นักวิชาการ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ ได้มีโอกาสรับรู้รับฟังข้อมูลต่างๆ อันก่อให้เกิดประเด็นคำถาม เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งยังเกิดประเด็นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จะนำมาเป็นหัวข้อในการศึกษาวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อดักหน้าการพัฒนาคลองไทยเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของพื้นที่ภาคใต้ต่อไป”