ศรัทธาล้นหลาม เปิดงานสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว ประเพณีตายายย่าน วัดท่าคุระ
ศรัทธาล้นหลาม เปิดงานงานสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว 2560 (งานสรงน้ำแม่อยู่หัว) ประเพณีตายายย่านของวัดท่าคุระ มรดกจากบรรพบุรุษ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ลูกหลานเกิดความสามัคคี พร้อมสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
วานนี้ (17 พฤษภาคม 2560) ที่วัดท่าคุระ ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีพิธีเปิดงาน งานสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว ปี 2560 ประเพณีตายายย่าน โนราแก้บน มีนายอนุรัฐ ไทยตรง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ทัฬหวาสน์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการบริหารงานบุคคล อบจ.สงขลา , นายปัญญวัฒน์ เรืองวงศ์โรจน์ ปลัดอำเภอสทิงพระ และนายขนบ แท่นประมูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองรี และแขกผู้มีเกียรติร่วมกันเปิดงานในครั้งนี้
[video-0]
งานสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว (งานสรงน้ำแม่อยู่หัว) ประเพณีตายายย่านของวัดท่าคุระ จะมีขึ้นทุกวันพุธแรกเดือนหกข้างแรมทุกๆปี หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า งานตายาย ย่าน โดยคำว่า ตา-ยาย หมายถึง บรรพบุรุษ ย่านหมายถึง เทือกเถา รวมความแล้วงาน ตายาย ย่าน คือ งานรวบรวมลูกหลานชาวท่าคุระให้มาพบกันในปีหนึ่ง โดยยึดเอาแม่อยู่หัวเป็นศูนย์กลาง โดยมีงานสองวันหลักๆ คือวันพุธจะมีการสรงน้ำแม่อยู่หัว และ วันพฤหัส จะมีรำมโนราห์แก้บน โดยปีนี้ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2560 (วันที่ 17 เป็นการสรงน้ำ และวันที่ 18 เป็นการแก้บนต่างๆ)
เรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์ของแม่อยู่หัวบังเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือ กรุงศรีอยุธยาตอนต้น เจ้าแม่อยู่หัวหรือพระหน่อโอรสของเจ้าเมืองใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ครั้งเสด็จลงเล่นน้ำที่ท่าน้ำ บังเกิดปาฎิหาริย์ให้พระหน่อหายไป จนพระพี่เลี้ยงไม่สามารถตามหาได้ ความทราบถึงพระมหากษัตริย์และราชินี จึงรีบสั่งให้ออกตามหา แต่ก็ไม่พบร่องรอย
ณ หมู่บ้าน หนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของนครศรีธรรมราช มีตากับยาย เที่ยวออกเก็บผัก เก็บฝืน หาปูหาปลา ไปเจอเด็กคนหนึ่งลอยมากับน้ำ ซึ่งก็คือพระหน่อ จึงได้เก็บมาเลี้ยงประหนึ่งดังลูกของตนเอง ด้วยความน่ารักน่าเอ็นดู พูดจาสุภาพอ่อนโยน จึงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนและเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ณ วันหนึ่ง เหล่าทหารมหาดเล็ก เดินทางมาถึงบ้านตากับยาย เกิดมาเจอพระหน่อเข้า ก็ไปกราบทูลต่อพระมหากษัตริย์และราชินี ให้ทรงทราบเป็นความปิติยินดีให้กับทั้งสองพระองค์ จึงได้ส่งขบวนมายังบ้านตายายเพื่อรับพระหน่อกลับเมือง
จึงได้มีการทำพิธีรับขวัญพระหน่อ ขึ้น ในวันพุธ แรมหนึ่งค่ำ เดือนหก มีการแสดงสมโภชเพื่อรับขวัญ การแสดงมโนราห์ รุ่งเช้ามีการจัดสำรับ ขนมโค ขนมทอง ขนมลา ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และเครืองบายศรีต่างๆ ในการสมโภชและรับขวัญพระหน่อ และราชินีก็ทรงให้ช่างตีทองแผ่กว้างแล้วสลักรูปพระหน่อลงในแผ่นทองแล้วมอบกับตายาย ด้วยความซาบซึ้งในน้ำพระทัยของราชินี ตายาย ก็เลยเรียกแผ่นทองคำสลักพระหน่อว่า “เจ้าแม่อยู่หัว” เหตุผลเพราะราชินีหรือเจ้าแม่อยู่หัวเป็นผู้มอบให้
แม่อยู่หัว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ก็สร้างจากแผ่นทองคำ แทนตัวพระหน่อ ที่ราชินีได้ให้ไว้กับตายาย ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคุระ หมู่ที่ 9 ต.คลองรี อ.สทิงพระ จ.สงขลา ขนาดหน้าตักกว้าง 2 นิ้ว ชาวบ้านท่าคุระและบุคคลทั่วไปให้ความเคารพนับถือและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างไว้เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว จึงเป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลังได้เคารพสักการะ บูชา สืบต่อกันมา รวมทั้งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่หลอมรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ลูกหลานเกิดความสามัคคีสืบมา และได้จัดให้มีประเพณีสมโภชสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในวันพุธแรก ข้างแรม เดือนหก เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป