เครือข่ายสุขภาพรุมค้านแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพ-ชี้ปชช.ขาดการมีส่วนร่วม


12 มิ.ย. 2560

สช.จัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพ ด้านเครือข่ายภาคประชาชนอ่านแถลงการณ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้กฎหมาย พร้อมติดตามเวทีแสดงความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นอีก 3 ภูมิภาค

98.jpg

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. 60 ที่ห้องประชุมแกรนต์บอลรูม เอ โรงแรม ลี การ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีเปิดรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพ เป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ , เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคใต้ และ เครือข่าย 9 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพ

หลังจากนั้นในเวลา 11.00 น. ทางตัวแทนผู้เข้าร่วมงานในนามเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นางวรรณทา ทองสมุทร เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก) พร้อมด้วย นายพิทักษ์ บำรุงชาติ เครือข่ายคนพิการ และ นายนิธิป คงทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้อ่านแถลงการณ์ “เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ แก้ กม.หลักประกันสุขภาพ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม หยุด!!! กระบวนการ และเริ่มใหม่”

โดยระบุว่า “เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ ได้ติดตามการใช้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่าง ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 พบว่า สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อระบบบริการสุขภาพในภาพรวมเป็นอันมาก ทำให้ลดการล้มละลายของครัวเรือนอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็พบข้อติดขัดในทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการสำคัญของระบบ หลักประกันสุขภาพ ได้แก่ หลักการมาตรฐานการรักษาเดียวกันทุกกองทุน หลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ หลักการครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม หลักการร่วมจ่ายจากภาษีทางตรงและทางอ้อมไม่เรียกเก็บ ณ จุดบริการ และสิ่งสำคัญ คือ หลักการการมีส่วนร่วมที่ต้องสนับสนุนให้ภาคประชาชนร่วมจัดบริการ

ซึ่งเราพร้อมร่วมกระบวนการประชาพิจารณ์เพื่อแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ โดยต้องคงหลักการสำคัญข้างต้น แต่การจัดกระบวนการประชาพิจารณ์ครั้งนี้เริ่มต้นก็สร้างความผิดหวังให้เครือข่ายเป็นอันมาก โดยประชาชนทั่วไปกว่า 48 ล้านคนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการไม่รับทราบข้อมูลแนวทางกระบวนการรับฟัง จึงไม่สามารถเสนอประเด็นที่ต้องการแก้ไขเข้าสู่ กระบวนการ เพราะขาดช่องทางในการสื่อสารตามบริบทของกลุ่มผู้ใช้บริการคือเครือข่าย 9 ด้าน

ทั้งนี้กระบวนการรับฟังระดับภูมิภาค 4 ภาค ก็มีผู้เข้าร่วมได้เพียง 300 คนต่อภาค และมีภาคประชาชนเพียง 100 คนเท่านั้น แม้มีการจัดช่องทางเสนอความเห็นออนไลน์ ก็ไม่สอดรับกับวิถีชีวิตประชากรผู้ใช้บริการในพท.ห่างไกลซึ่งเป็น กลุ่มหลักที่พบปัญหาการใช้บริการ

อีกทั้ง 14 ประเด็นที่คณะผู้จัดประชาพิจารณ์รวบรวมมานั้น ก็มีนัยยะที่ลดทอนให้ขัดหลักการสำคัญที่เครือข่าย กังวล ซึ่งข้อเสนอเพื่อการรับฟังนั้นส่วนใหญ่มาจาก ฟากผู้ให้บริการ ได้แก่ การเพิ่มกรรมการสปสช.ทั้ง 2 ชุด ในสัดส่วนผู้ให้บริการที่เป็นภาคหน่วยงานทำให้เสียหลักการแยกผู้จัดบริการ และผู้ซื้อบริการ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

รวมทั้งการเน้นประเด็นเพียงเพื่อปลดล็อกการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ ทั้งเรื่องการขอคืนอำนาจจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ กลุ่มเฉพาะ คงเดิมคำว่าร่วมจ่าย ขอแยกเงินเดือน สะท้อนว่าไม่ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของประชาชน ต้องการเข้าถึง ยาจำเป็น ไม่มีมิติการมีส่วนร่วมให้องค์กรภาคประชาชนร่วมการจัดบริการ ไม่คำนึงถึงการกระจายบุคคลากรการแพทย์ใน พื้นที่ขาดแคลนผ่านการบริหารการเงิน

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการรับฟังไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 สามารถรวบรวมข้อเสนอ ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างให้เป็นประโยชน์ สร้างการรับรู้เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน และไม่เป็นการสูญเปล่างบประมาณ   เครือข่ายฯจึงเรียกร้องให้ยุติกระบวนการรับฟังที่ไม่ชอบธรรมนี้ และเริ่มจัด กระบวนการรับฟังใหม่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมตั้งแต่จัดทำข้อเสนอ มีการทำเวทีถึงระดับจังหวัด องค์ประกอบกรรมการ รับฟังต้องมีความสมดุลไม่เอนเอียงไปฝ่ายใด

ทั้งนี้เครือข่ายฯจะเฝ้าติดตามและทวงถามอย่างใกล้ชิดในฐานะพลเมือง เพื่อให้กม.ระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ คงเจตนารมณ์และหลักการ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะร่วมกันพัฒนาระบบให้มีความมั่นคงผ่านกลไก กระบวนการ มีส่วนร่วมที่แท้จริง”

และภายหลังการอ่านแถลงการณ์แล้วเสร็จนั้น ยังคงมีการร่วมกันแสดงความคิดเห็น และทรรศนะเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงไม่เห็นด้วย รวมทั้งจะมีการติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นที่ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะมีขึ้นในอีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ วันที่ 11 มิ.ย. , ภาคอีสาน วันที่ 17 มิ.ย. และ ภาคกลาง วันที่ 18 มิ.ย.

99.jpg

/////