อบจ.สงขลา เดินหน้าสร้างถนนด้วยยางพาราหวังเพิ่มปริมาณการใช้ช่วยเหลือเกษตรกร
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขยายผลความสำเร็จโครงการก่อสร้างถนนลายางด้วยส่วนของยางพาราต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ขยายโครงการก่อสร้างเป็น 5 สายหลังถนน 2 สายที่สร้างใน 2 ปีแรกยังมีความมั่นคงแข็งแรงเผยขณะนี้หลายท้องถิ่นมาศึกษาดูงานและนำโครงการก่อสร้างไปขยายผลในพื้นที่เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา
(29 ก.ค.60) นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ลงพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจสอบถนนในความรับผิดชอบของอบจ.สงขลา ที่ดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2560 และเป็นถนนลาดยางปรับปรุงคุณภาพด้วยส่วนผสมของยางพารา พร้อมพบปะผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 อบจ.สงขลา ได้มีการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างถนนลาดยางด้วยส่วนผสมของยางพารา จำนวน 6 สาย
-
[video-0]
โดยเป็นถนนในอำเภอจะนะ 2 สาย ได้แก่ ถนนบ้านควนมีด-บ้านควนจากเชื่อมตำบลคลองเปียะ-นาหว้า กว้าง 8 เมตร ยาว 1.85 กิโลเมตร ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม 4.35 ตัน และถนนบ้านแคเหนือ-ท่าล้อ เชื่อมตำบลแคกับตำบลท่าหมอไทร กว้าง 8 เมตร ยาว 1.50 กิโลเมตร ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม 3.50 ตัน ซึ่งถนนทั้ง 2 สายก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณืและเปิดให้ประชาชนได้สัญจรแล้ว
นายกอบจ.สงขลา เปิดเผยว่า การก่อสร้างถนนด้วยส่วนผมสของยางพารา ถ้าถนนกว้าง 8 เมตรยาว 1 กิโลเมตรจะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมที่ประมาณ 2 ตัน โดยต้นทุนของถนนที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมจะสูงกว่าถนนลาดยาวทั่วไปประมาณ 20% แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราและกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ อบจ.สงขลา ได้นำร่องทดลองทำถนนด้วยยางพารามาตั้งแต่ปี 2558 โดยทดลองกับถนนสายกาญจนราเมศร์ เชื่อมตำบลคอหงส์-คลองแห อำเภอหาดใหญ่ ปี 2559 ถนนสายบางเหรียง-ควนเนียง เชื่อมตำบลบางเหรียง-รัตภูมิ อำเภอควนเนียง
ในปีงบประมาณ 2560 อบจ.สงขลา ได้มีการจัดสร้างถนนด้วยส่วนผสมยางพาราเพิ่มอีก 6 สาย เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำได้อีกหนึ่งช่องทาง และทางอบจ.สงขลา ยังได้ขยายความร่วมมือโครงการนี้ไปยังอบจ.ต่างๆ ทั่วภาคใต้ในการร่วมกันใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนในความรับผิดชอบของอบจ.อีกด้วย
โดยในการลงพื้นที่ตรวจถนนยางพาราในวันนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี ยังได้แวะเยี่ยมจุดรับซื้อน้ำยางของชาวบ้านในพื้นที่ให้ำลังใจชาวสวนยาง ช่วยยกน้ำยางพารา และดูวิธีการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำยางด้วยความสนใจ โดยวันนี้ราคาน้ำยางพาราท้องถิ่นอำเภอจะนะอยู่ 48-50 บาทต่อกิโลกรัม และยังได้ร่วมเวทีพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ ตามกรอบความรับผิดชอบของอบจ.สงขลาด้วย