ชาวบ้านคลองควาย ประท้วงปลดรองนายกเทพาที่กล่าวหาว่าทำลายป่าโกงกาง
ชาวบ้านบ้านคลองควาย ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา รวมตัวกันมาเดินทางยื่นหนังสือที่สภ.เทพา อำเภอเทพา และเทศบาลตำบลเทพา เรียกร้องปลดนายอิสดาเรศ หะหยีเด รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพา ที่กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าโกงกาง ทั้งที่ช่วยกันสร้างและดูแลจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียง พร้อมวอดอย่านำไปโยงกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพราะชุมชนที่นี่เขาทำมานานแล้ว
(11 ก.ย.60) กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลนอำเภอเทพา กลุ่มเลี้ยงปลากระพง และชุมชนในพื้นที่ ม.8 บ้านคลองควาย ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เกือบ 200 คน ได้รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจกับนายฮามะ บากา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลน ซึ่งถูกร้องเรียนเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนบ้านคลองควาย ทั้งๆที่ทางกลุ่มฯ เป็นผู้พัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยื่นหนังสือถึงนายอำเภอเทพาขอให้ถอดถอนรองนายกเทศมนตรีตำบลเทพา ออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลนอำเภอเทพาถูกร้องเรียนจากเครือข่ายสงขลา-ปัตตานี ค้านโรงไฟฟ้า โดยนายอิสดาเรส หะยีเด รองนายกเทศบาลตำบลเทพา ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกทำลายป่าชายเลน คลองตูหยง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมกล่าวหาว่ากลุ่มฯ ดังกล่าวดำเนินการตัดแต่งกิ่งโกงกางโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้นายฮามะ บากา เป็นประธานกลุ่มฯ ซึ่งต้องเข้าให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเทพา ในวันที่ 11 กันยายน 2560
[video-0]
โดยมีสมาชิกกลุ่มลุ่มน้ำและป่าชายเลน กลุ่มเลี้ยงปลากระพงและชุมชนที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่คลองควายเข้าร่วมให้กำลังใจเกือบ 200 คน โดยได้รวมตัวกันบริเวณสถานีรถไฟเทพาแล้วเคลื่อนขบวนมายังสถานีตำรวจภูธรเทพา เพื่อให้กำลังใจ จากนั้นได้ยื่นหนังสือถึงนายอำเภอเทพาโดยมีนายบุญเลิศ ดำจำนงค์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ เป็นตัวแทนรับมอบ รวมทั้งได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายเฉลิมพล ทิพย์มณี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเทพา เพื่อพิจารณาการทำหน้าที่ของรองนายกเทศมนตรีตำบลเทพาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
โดยเนื้อหาในหนังสือมีข้อความชี้แจงการดำเนินงานของกลุ่มฯ ที่มีภารกิจในการสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพให้เยาวชนและประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลนและส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอเทพา ซึ่งจากข้อร้องเรียนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมากหากศาลมีคำสั่งให้รื้อถอน จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเดือดร้อนและส่งผลกระทบกับแผนพัฒนาเทพาเป็นอย่างมาก
ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของรองนายกเทศมนตรีตำบลเทพา ทำให้เกิดความเสียหายในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความตั้งใจที่อยากพัฒนาพื้นที่อำเภอเทพาให้มีการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และความรู้สึกของพี่น้องประชาชนบ้านคลองควาย เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความจริงแล้วด้วยความเป็นรองนายกเทศมนตรีน่าจะมีจิตใจและความคิดในการพัฒนา ไม่ว่าในพื้นที่ที่ตัวเองดูแลและพื้นที่รอบข้างจะส่งผลให้เทพามีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงขอให้นายอำเภอเทพาพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงพิจารณาปลดออกจากตำแหน่งด้วย
นายฮามะ บากา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลนอำเภอเทพากล่าวว่า "การตัดแต่งกิ่งป่าโกงกาง ทางกลุ่ม ได้ทำประชาคมในหมู่บ้านว่าด้วยเรื่องป่าโกงกางจะปิดทางเดินน้ำ จึงต้องทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ทางน้ำปิด ทางชุมชนชาวประมงก็จะสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งในการตัดแต่งกิ่งชุมชนบ้านคลองควายได้ร่วมมือร่วมใจกันเป็นจำนวนกว่า100 คน ทางกลุ่มฯ เข้ามาเพื่อการพัฒนาไม่ได้เข้ามาเพื่อทำลายแต่ทำไมกลับมองว่าชุมชนเข้ามาทำลาย
ชาวบ้านอยู่กันมานาน หากินกันมานานแต่คนที่ไม่เข้าใจบริบทของชุมชนได้ทำการฟ้องร้อง ว่าทางกลุ่มฯ บุกรุกป่าชายเลน ทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชนชาวประมงที่ทำมาหากินในพื้นที่ หาเช้ากินค่ำไม่กล้าเข้าพื้นที่ ทำไมถึงไม่เข้าใจว่าการพัฒนามีรูปแบบอย่างไร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนจากการโดนฟ้องร้องในครั้งนี้ ชุมชนบ้านคลองควายได้ร่วมพลังในวันนี้เพื่อแสดงถึงการใส่ใจชุมชนของตัวเอง
ซึ่งในปัจจุบันทางชุมชนได้พัฒนาฟื้นฟูอุโมงโกงกางเป็นระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร จนกลายเป็นเส้นทางเดินเรือของกลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงยังมีกลุ่มเลี้ยงปลากระพง กลุ่มเลี้ยงปูดำเกิดขึ้นเพื่อสร้างอาชีพแก่ชาวบ้านด้วย เพราะฉะนั้นชุมชนจึงขอเรียกร้องความเป็นธรรม ถ้าหากจะเกิดการฟ้องร้องต้องให้คนในชุมชนเป็นคนฟ้อง ไม่ใช่คนนอกพื้นที่"
โดยชาวบ้านยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยื่นหนังสือกล่าวหาว่าชาวคลองควายบุกรุกพื้นที่ป่ายเลนในครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่การไฟฟ้าสฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของทางกลุ่ม ซึ่งขอยืนยันว่ากลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าฯ จึงไม่อยากให้นำไปเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันเพราะชาวบ้านชุมชนดูแลพื้นที่ของตัวเองมานานแล้ว กฟผ.เพิ่งเข้ามาสนับสนุนและสนับสนุนเพียงบางส่วนเท่านั้น