กฟผ.นำทีมสื่อใต้ดูงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH มาเลเซีย มั่นใจเทพาทำได้ดีกว่า
กฟผ.นำทีมสื่อใต้ดูงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH มาเลเซีย มั่นใจเทพาทำได้ดีกว่า
เมื่อวันที่ 8 – 10 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการเตรียมงานโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นำทัพสื่อมวลชนจากจังหวัดสงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมทริปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH POWER PLANT ( JIMAH ENERGY VENTURES SDN BHD) รัฐเนเกรี เซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย โดยมีสื่อมวลชนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมทริปกว่า 80 คน
[video-0]
ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมาดูงานในครั้งนี้ ก็เหมือนการมาดูข้อเท็จจริงของโรงไฟฟ้าจิมาห์ ที่มีแหล่งชุมชน มีป่าชายเลน ดูข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการก่อสร้าง การดูแลโรงไฟฟ้า การอยู่ร่วมกันของชุมชนกับโรงไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกันของมาเลเซีย กับไทย (เทพา ) มีความแตกต่างกัน และความเหมือนกัน อยู่หลายที่ เช่น ความต่างอยู่ที่ ที่นี้มีกำลังการผลิตที่ 1400 เมกกะวัตต์ ส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าเทพา มีกำลังการผลิตที่ 2,000 เมกะวัตต์ แต่มีความเหมือนกันตรงที่ใช้ถ่านหินนำเข้าประเภทซับบิทูมินัสและบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง เหมือนกัน ข้อแตกต่างที่สำคัญในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะโรงไฟฟ้าจิมาห์สร้างมาเป็นสิบปีแล้ว เทคโนโลยีในการกำจัดมวลสารที่ยังเป็นเทคโนโลยีแบบเก่า และอีกเรื่องที่แตกต่างกันคือการเก็บถ่านหินเพราะที่จิมาห์เป็นแบบระบบเปิด แต่ที่เทพาเป็นระบบปิด ใช้อาคารปิด และเรื่องระบบอากาศ เราดูแลภาพรวมดีกว่า แต่ต่างกันเทคโนโลยี ที่เราจะมีความทันสมัยกว่า
ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
การมาดูงานที่โรงไฟฟ้าจิมาห์ในครั้งนี้ เรามาดูแลเทคนิคการดูแลสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือชุมชน การเยียวยาชุมชน การอยู่ร่วมกันในส่วนนี้เราก็เก็บประสบการณ์ของเขา และนำส่วนที่เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชนของเราให้มากที่สุด
ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ยังย้ำด้วยว่า อยากให้ความมั่นใจกับคนไทย ที่มีความห่วงกังวลในเรื่องของโรงไฟฟ้าว่า ในประเทศมาเลเซีย เขาใช้ถ่านหินประมาณ 40% ส่วนไทยบ้านเราใช้อยู่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็น ภาคใต้ยังมีความจำเป็นในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราใช้ก๊าซธรรมชาติเนี่ยมันก็จะเกิดปัญหา เรื่องก๊าซไทยมาเลเซีย อยู่ประจำ เราจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคง แล้วก็ราคาไม่แพง แล้วก็ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้ อันนี้คือเป็นหลักที่เราให้ความสำคัญ
วิศวกรโรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH มีกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ใช้วิธีการถมทะเล ที่ไม่รุกล้ำป่าชายเลน มีการติดตั้ง ระบบป้องกันมลภาวะสิ่งแวดล้อม ทั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ Flue Gas Desulphurisation-FGD ระบบเผาไหม้ที่ทำให้เกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนต่ำ Low Nox Burner และเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต Electrostatic Precipitator-ESP มีอุณหภูมิที่ปล่อยน้ำไปในทะเล ไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส โดยมีเจ็ตตี้ยื่นออกจากท่าเทียบเรือไปในทะเล ซึ่งรองรับเรือบรรทุกถ่านหินขนาดใหญ่ที่มีระวางน้ำหนักระหว่าง 35,000-150,000 เดตเวตตัน และตัวเก็บถ่านหินเป็นระบบเปิด มีระบบสายพานลำเลียงถ่านแบบปิดเพื่อขนถ่านหินมายังลานเทกอง ซึ่งจะใช้สเปรย์น้ำป้องกันการฟุ้งกระจาย
วิศวกรโรงไฟฟ้าถ่านหิน JIMAH
นับตั้งแต่เปิดเดินเครื่องก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบข้างมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2009 ก็ยังไม่มีข้อร้องเรียนร้ายแรงใดๆจากชุมชน มีการดูแลชุมชุนโดยหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าจะถูกตรวจสอบด้วยระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โรงไฟฟ้าจิมาห์มีกิจกรรม CSR ช่วงแรกๆมีการชดเชยให้กลุ่มชาวประมง ที่มีความวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้า พอหลังๆมานี่เราก็มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนต่างๆ มอบสินบริจาคต่างๆบ้าง ตามความเหมาะสม
หลายหน่วยงานที่มาดูงานก็มักถามว่าทำไมถึงต้องใช้ เป็นแบบถ่านหิน คำตอบที่จะตอบคือคำว่า COST หรือต้นทุน ที่ไม่สูงมาก โดยมีรัฐบาลเป็นคนควบคุมค่าไฟฟ้า
ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับเต็มๆคือ ลูกหลานในพื้นที่มีงานทำ ไม่ต้องไม่ทำงานไกลบ้าน โดยปกติคนหนุ่มสาวแถวโรงไฟฟ้าจิมาห์จะเข้าไปทำงานที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ กันเพราะมันไม่ไกล แต่พอมีโรงไฟฟ้าก็สามารถทำงานแถวบ้านได้ มีอาชีพรองรับ ลูกหลานมีการศึกษา หรือจะทำอาชีพดั้งเดิม การประมงก็สามารถทำได้เหมือนเดิม
ด้านชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจิมาห์หลายท่านก็เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าจิมาห์ทำให้พื้นที่มีคนเข้ามามากขึ้น แม่ค้าขายข้าวท่านนึง กล่าวว่า มีคนเข้ามาทานอาหารมากขึ้นนับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้า ส่วนคุณครูในโรงเรียนแถวนั้นก็บอกว่า ไม่ได้วิตกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า แต่ห่วงเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ เพราะมีแรงงานต่างชาติมาทำงานมากขึ้น คนกลุ่มนี้บางคนก็ไม่ค่อยสะอาด และยังห่วงเด็กๆเรื่องการ ข้ามถนน เป็นต้น
นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กฟผ. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ด้วยความที่เราสร้างหลัง เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ทำให้มั่นใจว่าในการก่อสร้าง และระบบโรงไฟฟ้าของเทพาเราทำได้ดีกว่า แต่เรามาดูงานครั้งนี้เรามาดู การดูแลชุมชน การอยู่ร่วมกันของชุมชนและโรงไฟฟ้า และการดูแลสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าจิมาห์ ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดที่เราใส่ใจ ในส่วนของการดูแลชุมชน ที่โครงการเตรียมงานโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เราลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนและสนับสนุน ในสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการจริงๆ ให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ มีการดำเนินการมาโดยตลอด และมุ่งหวังให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า
นายวีระชัย ยอดเพชร