50 ปี ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้


6 ก.พ. 2561

87.jpg

หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าทำไมมหาวิทยาลัยบางแห่งมีอายุเกือบ 100 แต่ทำไม ม.อ.ที่มีอายุเพียง 50 ปี ถึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ นั่นเพราะที่อื่นเริ่มต้นจากโรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน ส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัย ม.อ.เป็นที่แรกของภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ทำไมอักษรย่อ ม.อ.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" และใช้อักษรย่อ ม.อ.คืออักษรย่อมาจากพระนาม "มหิดลอดุลเดช" อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ และทรงพระราชทานตราประจำพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย 

85.jpg

มีคติพจน์มหาวิทยาลัยว่า "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์" ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกศรีตรัง สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงิน

* มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อักษรย่อ ม.อ. ไม่ใช่ มอ. ชื่อภาษาอังกฤษ Prince of Songkla University อักษรย่อ PSU (ภาษาอังกฤษใช้ Songkla ซึ่งเขียนเหมือนพระนามประจำพระองค์ แตกต่างจากจังหวัดสงขลาที่ปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษ Songkhla) 

PSUlogo.gif

ย้อนความเป็นมากว่าจะมาเป็น ม.อ.  

เมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง "วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์" เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้" ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น "วันสงขลานครินทร์"

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสถาปนามหาวิทยาลัย"

88.jpg

ในระยะแรกของการก่อตั้ง ได้รับนักศึกษาเข้าศึกษาครั้งแรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นสถานที่ศึกษา และปี พ.ศ. 2511 ก็เริ่มย้ายนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มาเรียนที่จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2514 ย้ายนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาเรียนที่ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นวิทยาเขตที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริหารมหาวิทยาลัย

นับจากอดีตถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่องมี 5 วิทยาเขตตามลำดับ พ.ศ.2511 วิทยาเขตปัตตานี พ.ศ.2514 วิทยาเขตหาดใหญ่ พ.ศ. 2520 เปิดวิทยาเขตภูเก็ต พ.ศ. 2533 เปิดวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และพ.ศ. 2534 เปิดวิทยาเขตตรัง เปิดสอนคณะวิชาต่างๆ 25 คณะ 236 สาขา แบ่งเป็นระดับปริญญาเอกและเทียบเท่า 20 สาขา หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง 9 สาขา ปริญญาโท 86 สาขา ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 สาขา และปริญญาตรี 121 สาขา

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีสาระสำคัญคือได้ยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2541 และได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป 

91.jpg

พ.ศ.2511 - พ.ศ.2561 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ 50 ปีแห่งการผลิตบัณฑิตคุณภาพรับใช้สังคม 50 ปีแห่งการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย 50 ปีแห่งการสร้างชื่อเสียงให้ดังไกลไปทั่วโลก ตลอดปี 2561 ศิษย์เก่าและทุกท่านสามารถติดตามการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 50 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาและรับใช้สังคมตลอดไป 

"มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยแห่งชาติ"   

86.jpg90.jpg97.jpg96.jpg99.jpg84.jpg83.jpg82.jpg81.jpg

ที่มา ข้อมูล/ภาพhttp://www.psu.ac.th
ขออนุญาตเจ้าของภาพบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต ใช้ประกอบเพื่อเชิดชูมหาวิทยาลัย ไม่ได้หวังผลในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด