เปิดสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ฝั่งไทย คืนสุขให้ชาวบ้าน-คืนชีพการเดินทางรถราง (มีคลิป)


2 มี.ค. 2559

ปาดังเบซาร์ เมืองท่าการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศไทย เมืองที่เป็นเส้นทางเชื่อมการขนส่งทางรางระหว่างประเทศไทย สู่มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ที่ผ่านมาการที่คนไทยจะเดินไปปาดังเบซาร์ด้วยรถไฟกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเพราะต้องใช้หนังสือเดินทางด้วย


 [video-0]

ย้อนอดีตสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากการสืบหาข้อมูลพบว่า สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ เป็นของมาเลเซียหรือของมลายูตั้งแต่แรกสร้างแม้ว่าดินแดนที่เป็นรัฐปะลิส ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูจะเคยเป็นของไทย แต่ก็เสียให้แก่อังกฤษในปี พ.ศ. 2451 อีก 10 ปีวันที่ 1 ก.ค. 2461 จึงเปิดเดินรถไฟเชื่อม 2 ประเทศ โดยมีข้อตกลงให้สถานีปาดังเบซาร์เป็นสถานีร่วม ให้บริเวณสถานีปาดังเบซาร์อยู่ในเขตโนแมนแลนด์ ชานชาลาฝั่งเหนืออยู่ในเขตไทย ฝั่งใต้อยู่ในเขตมาเลเซีย ตอนนั้นการค้าชายแดนรุ่งเรืองมาก คนไทยข้ามไปเที่ยวไปซื้อของฝั่งตลาดมาเลเซียได้โดยไม่ต้องมีพาสปอร์ตหรือหนังสือผ่านแดนใดๆ เช่นเดียวกับที่คนมาเลเซียข้ามแดนมาฝั่งไทย (*อ้างอิงข้อมูลจากบอร์ดเรื่องแต่แรก www.Gimyong.com)

79.jpg
 
อย่างไรก็ตามเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการเดินทางผ่านแดนระหว่างประเทศก็เริ่มมีความเข้มงวดกวดขันมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแบ่งปันเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ก็มีการปักหลักเขตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นประจวบกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทำให้ทางฝั่งมาเลเซียมีการเข้มงวดกวดขันการเดินทางระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น คนไทยที่จะใช้บริการสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ที่จะเดินทางไปหาดใหญ่หรือกรุงเทพที่สถานีปาดังเบซาร์ จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางในการขึ้นลงรถไฟที่สถานีปาดังเบซาร์ด้วย
 
หลังจากการใช้บริการรถไฟที่สถานีปาดังเบซาร์ มีความยุ่งยากเรื่องการผ่านแดนทำให้หลายภาคส่วนต่างพยายามผลักดันให้เกิดการก่อสร้างสถานีไฟปาดังเบซาร์ ในฝั่งไทยขึ้นเพื่อชาวปาดังเบซาร์ รวมถึงผู้มาเยือนเมืองปาดังเบซาร์ มีความสะดวกสบายในการเดินทางโดยไม่ต้องยุ่งยากเรื่องหนังสือผ่านแดน ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 ฝั่งไทยก็คือนายบรรณจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเบตง และนายกฤษฎา บุญราช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และปลัดกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน เป็นผู้ผลักดันงบประมาณ 10 ล้านบาทในการจัดสร้างสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2
 
สำหรับโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 ที่บริเวณสวนสาธารณะ ริมทางรถไฟเขตเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มดำนเนินการสร้างในต้นปี 2558 แล้วแล้วเสร็จในปลายปีเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ พ.ท.ฮัจญ์ยี การ์บีนีพิจัน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศมาเลเซีย ร่วมเป็นประธานเปิดการเดินรถระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ขบวนรถ DRC เที่ยวปฐมฤกษ์ จากสถานีชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นขบวนดีเซลรางปรับอากาศ และไปเชื่อมต่อกับขบวนรถไฟฟ้าด่วน ETS ที่สถานีปาดังเบซาร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองบัตเตอร์เวอร์ธ (รัฐปีนัง) เมืองอิโปห์(รัฐเปรัก) และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน เพิ่มความสะดวกต่อการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว

80.jpg
 
โดยในระยะแรกจะให้บริการ 4 ขบวนคิดอัตราค่าโดยสาร 80 บาทตลอดสาย ประกอบด้วย ขบวน 947 หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ออก 07:30 ถึง 08:25, ขบวน 948 ปาดังเบซาร์ - หาดใหญ่ ออก 08:55 ถึง 09:50, ขบวน 949 หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ออก 13:05 ถึง 14:02, ขบวน 950 ปาดังเบซาร์ - หาดใหญ่ ออก 14:40 ถึง 15:35 รวมถึงยังมีขบวนพิเศษเดิม ขบวน 953 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออก 16.00 ถึง 16.55 และขบวน 954 ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ ออก 10.25 ถึง 11.20
 
หลังจากเปิดเดินรถไฟสายปาดังเบซาร์ ทีมข่าวของเรามีโอกาสลงพื้นที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 ฝั่งไทย ได้สอบถามข้อมูลจากนายอัครเดช เหมโซ๊ะ พนักงานเดินรถ 2 ซึ่งประจำการอยู่ ณ สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 บอกกับเราว่าประชาชนเริ่มรู้ข่าวและให้ความสนใจใช้บริการสถานีรถไฟในการเดินทางไปยังหาดใหญ่มากขึ้น ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าค่ายโดยสาร 80 บาทดูเหมือนจะแพงแต่ถือว่าคุ้มค่าหากเทียบกับขับรถส่วนตัว และที่สำคัญสถานีชุมทางหาดใหญ่ ก็อยู่ใจกลางเมืองเมื่อลงรถไฟแล้วสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก
 82.jpg
ผู้โดยสารรถไฟซึ่งเป็นชาวปาดังเบซาร์ บอกกับเราว่าได้ใช้บริการรถไฟขบวนใหม่นี้แล้วรู้สึกประทับใจ รถนั่งสบาย แอร์เย็นฉ่ำ โดยเลือกออกจากปาดังเบซาร์เที่ยว 9 โมงเช้า และมาเที่ยวในเมืองหาดใหญ่ เดินห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ลีการ์เด้นส์ และอีกหลายสถานที่ก่อนเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านในเที่ยว 4 โมงเย็น ซึ่งสบายกว่าการนั่งรถโดยสารและดีกว่าการขับรถจักรยานยนต์มาเองที่เหนื่อยและอากาศร้อนมาก ผู้โดยสารคนนี้ยังบอกว่า “เสียดายอย่างเดียวในเมืองไม่มีโรงหนังหากจะดูหนังต้องจ่ายค่าตุ๊กตุ๊กเพิ่มอีกเพราะเดินไปไม่ถึง”
 
นอกจากนี้ หลังจาก รฟท. ร่วมกับ KTMB (การรถไฟมาเลเซีย) จะเปิดเดินรถดีเซลรางปรับอากาศ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ อย่างเป็นส่งผลให้ผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวสามารถเชื่อมต่อขบวนรถไฟฟ้าด่วน ETS ที่สถานีปาดังเบซาร์ เพื่อเดินทางต่อไปยัง เมืองบัตเตอร์เวอร์ธ(รัฐปีนัง), เมืองอิโปห์(รัฐเปรัก) และ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้อย่างสะดวก และขบวนรถไฟเดิมขบวนรถด่วนพิเศษระหว่างประเทศที่ 35/36 กรุงเทพ - บัตเตอร์เวอร์ธ - กรุงเทพ และขบวนรถด่วน Peninsular ที่ 953/954 (รหัสขบวนในเขตประเทศไทย) ชท.หาดใหญ่ - ยะโฮร์บารู - ชท.หาดใหญ่ กำหนดให้หยุดเพื่อการโดยสารเพิ่มที่สถานีคลองแงะ และปาดังเบซาร์ (ไทย)  เพิ่มด้วย
 
สำหรับผู้ที่จะเดินทางด้วยรถไฟไปปาดังเบซาร์ หรือเชื่อมโยงเส้นทางสู่มาเลเซีย สิงคโปร์ สามารถสอบถามข้อมูล ณ จุดขายตั๋วและจุดจอดของรถไฟจะมี 3 สถานี ได้แก่ชุมทางหาดใหญ่ สถานีรถไฟคลองแงะ และสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 ฝั่งไทย โดยผู้ที่จะเดินทางไปยังมาเลเซียก็สามารถจัดการเรื่องด่านศุลกากรที่สถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย และต่อขบวนรถไฟไปได้ทันที ส่วนการเดินทางไปสิงคโปร์ก็จะต้องไปต่อรถไฟอีกครั้งที่ยะโฮร์บารู เพื่อเดินทางไปยังสิงคโปร์ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของหลายคน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ 2 โทร 074-260704   

81.jpg83.jpgIMG_3274.JPGIMG_3269.JPGIMG_3283.JPGIMG_3321.JPGIMG_3291.JPGIMG_3293.JPG