ศึกษาจากต้นแบบ สจรส.ม.อ.เปิดเวทีเสวนาหาแนวทางการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม
สจรส.ม.อ.เปิดเวทีการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะด้านการจัดการขยะมูลฝอย นายกอบจ.สงขลา ร่วมเวทีชี้จังหวัดสงขลามีขยะตกค้างกว่า 2.4 ล้านตันจาก 28 บ่อขยะทั่วสงขลา หลายบ่อยังไม่ได้มาตรฐานทิ้งในสวนยาง กลางนา ขณะที่อบจ.จะเข้าไปทำให้ถูกก็โดนค้านแทบทุกที่ ยกเทศบาลตำบลปริก ท้องถิ่นต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร
สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) จัดเวทีการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ การใช้ประโยชน์และถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยด้านการจัดการขยะมูลฝอยแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่นโยบาย โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีจากพื้นที่ 4 จังหวัด คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ,อ.รามัน จ.ยะลา ,เมือง จ.นราธิวาส และพื้นที่จังหวัดสงขลา
โดยพิธีเปิดการเสวนามีนายนิพนธ์ บูญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นประธานและร่วมบรรยายพิเศษ "การจัดการขยะและความท้าทายของชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา" ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการ สจรส.ม.อ. ร่วมต่อนรับ ดร.ซอฟียะห์ นิมะ หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการวิจัยเพื่อเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันสู่นโยบายระดับท้องถิ่น ระดับชาติต่อไป
นายกอบจ.สงขลา กล่าวว่าปัญหาขยะไม่ได้เป็นวาระท้องถิ่น แต่เป็นวาระแห่งชาติ เป็นวาระของโลก จังหวัดสงขลามีปัญหาขยะสะสมตกค้างกว่า 2.4ล้านตัน จากบ่อขยะ 28บ่อที่เป็นของท้องถิ่น และบ่อขยะเอกชนอีก 2บ่อ ขณะที่จังหวัดสงขลามีขยะเกิดใหม่อีกวันละ 1พันตัน วันนี้บ่อขยะส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน บริหารจัดการแบบไม่ถูกสุขลักษณะ หลายพื้นที่ทิ้งในสวนยาง ทิ้งในนา โดยไม่มีการฝังกลบที่ถูกวิธี อย่างพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระทั้ง 4อำเภอไม่มีบ่อขยะที่ถูกสุขลักษณะเลย
อบจ.ในฐานะท้องถิ่นพี่ใหญ่พยายามลงไปจัดทำบ่อขยะที่ถูกสุขลักษณะให้กับพื้นที่แต่ละโซน แต่ไม่ว่าลงไปพื้นที่ไหนก็ถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด มีเพียงบ่อขยะเทศบาลเมืองบ้านพรุ ที่เข้าไปสนับสนุนในการจัดาการระบบฝังกลบได้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นที่ทุกท้องถิ่นต้องมีบ่อขยะของตัวเอง ขอให้มีบ่อขยะรวมที่ถูกสุขลักษณะอยู่ในทุกโซนก็เพียงพอที่จะรองรับขยะจากท้องถิ่นใกล้เคียงได้ด้วย
การจัดการขยะที่เริ่มต้นจากชุมชนถือเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์อย่างยิ่ง หากทุคนเห็ความสำคัญของปัญหาขยะ มีการคัดแยกอย่างจริงจัง แยกขยะอินทรี ขยะรีไซเคิล เพื่อให้เหลือขยะทิ้งลงถังให้น้อยที่สุด ซึ่งหลายท้องถิ่นพยายามทำแล้วประสบความสำเร็จ อย่างเทศบาลตำบลปริก ถือว่าประสบความสำเร็จในหลายด้าน วันนี้หากทาง ม.อ.สามารถนำความสำเร็จเหล่านี้ไปต่อยอดสู่ชุมชนสู่ทุกท้องถิ่นก็จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก
นอกจากนี้ยังมีการเสวนานวัตกรรมการจัดการขยะ จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะทั้งถิ่นแบบครบวงจร เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ,การจัดการขยะในตลาดต้องชม ตลาดเกษตรม.อ. และจากตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมเสวนา
นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวถึงการจัดการขยะของท้องถิ่นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายท้องถิ่นต้องชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในทุกนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการขยะเทศบาลได้กำหนดเป็นวาระของทุกคนในเขตเทศบาลที่ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดขยะ คัดแยกขยะ นำขยะไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เหลือขยะเข้าสู่ระบบการจัดเก็บของเทศบาลให้น้อยที่สุด
โดยเทศบาลตำบลปริก ได้ดำเนินการจัดการขยะฐานศูนย์เริ่มจากพื้นที่นำร่องจนประสบผลสำเร็จและขยายการดำเนินงานให้คลอบคลุมทั้งเทศบาล ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายการจัดเก็บขยะ นอกจากนี้ เทศบาลยังได้นำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักที่ได้มาใช้ในพื้นที่สวนสาธารณะของเทศบาล และแจกจ่ายให้ชุมชนอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ต้องใช้เวลาและที่สำคัญต้องใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
นอกจากนี้ในเวทียังมีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการทำงาน การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ในงานิวจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะที่ยั่งยืนต่อไป
[video-0]