รมว.พลังงานลงมาพบฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าเทพาแล้ว พร้อมลงนาม 5ข้อเร่งเดินหน้า SEA
เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดยนายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร เลขาเครือข่าย พร้อมด้วยชาวเทพาจำนวนประมาณ 60 คน เดินทางมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อทวงถามคำตอบถึงความคืบหน้าในการยื่นหนังสือสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา และการยกเลิก MOU ที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เซ็นร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา - ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ปักหลักชุมนุมหลายวันแล้ว ที่หน้าสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริเวณด้านหน้ากระทรวงพลังงาน ทั้งนี้เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.61) แกนนำเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังหน้ากระทรวงพลังงาน ได้เจรจากับนายธีรศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน และทีมงาน โดยกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพื่อลงนาม MOU ร่วมกับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งยอมมาพบเครือข่ายชาวเทพาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงบ่ายวันนี้ (28 มี.ค.61) ที่บริเวณหน้า กฟผ.บางกรวยเป็นที่เรียบร้อย และกล่าวยืนยันว่าพร้อมทำตามเสียงสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ และเป็นห่วงสุขภาพของผู้ชุมนุมทุกคน ส่วนเนื้อหาในหนังสือลงนามมี 5 ข้อ โดยมีมีสาระคัญคือ
ฝ่ายสนับสนุนโรงไฟ้าถ่านหินเทพา ยินดีให้มีการจัดทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA สำหรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ โดยต้องให้ความสำคัญไปที่พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาล และให้กระทรวงพลังงาน นำข้อมูลที่เคยศึกษารายงานผลวิเคราะห์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA มาเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำ SEA ด้วย
ทั้งนี้ หากผลการจัดทำ SEA ยืนยันว่าสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้ รัฐบาลต้องให้กฟผ.เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างให้ได้ภายใน 1 ปี หากผลการศึกษาไม่เห็นชอบก็ยินดีให้มีการย้ายพื้นที่ก่อสร้างไปที่อื่นที่เหมาะสมต่อไป
เนื้อหาการลงนามฉบับเต็ม
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม ในการตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อำเภอเทพา จึงมีบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และฝ่ายสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าเทพาโดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ฝ่ายสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ยินดีให้มีการจัดทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลางและมีกระบวนการทำงานตามหลักสากลที่เป็นกลาง
2. การทำ SEA จะต้องให้ความสำคัญไปที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเนื่องจากถูกพิจารณาให้เป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) มาตั้งแต่ต้นตามนโยบายของรัฐบาล
3. ให้กระทรวงพลังงานนำข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ดำเนินการแล้ว มาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ SEA
4. หากผลการศึกษา SEA ได้ข้อสรุปให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีอยู่แล้ว ยื่นต่อ สผ. และดำเนินการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
5. หากผลการศึกษา SEA ไม่เห็นชอบกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพิจารณาพื้นที่อื่นที่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป”
ลงนามโดย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายหลี สาเมาะ ปรธธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร เลขาธิการเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ
นางสุวิมล รามันเศษ สมาชิกเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน