สิ้น ดร.ถนัด คอมันตร์ เขาไม่ใช่แค่นักการเมืองแต่คืออธิการบดี ม.อ.คนแรก
ดร.ถนัด คอมันตร์ อธิการบดี ม.อ. ท่านแรก ถึงแก่อนิจกรรม
พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ประธานคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ หรือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน เป็นอธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างเดือนเมษายน 2511 – มีนาคม 2512 และ นายกสภามหาวิทยาลัย ท่านที่ 2 ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ด้วยอายุ 102 ปี
พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ ได้รับการยกย่องในฐานะผู้วางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการก่อตั้ง "สมาคมอาเซียน" หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2510 หรือ “ประชาคมอาเซียน” ในปัจจุบัน เป็นผู้ริเริ่มให้มีการร่วมปักปันเขตแดนระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเพิ่งได้รับความเป็นอิสระจากการเป็นอาณานิคม ให้มีความชัดเจนโดยการเจรจาด้วยสันติวิธี เป็นความสำเร็จที่ได้รับการชมเชยจากนานาชาติ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีวาระ 6 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2539 - 2545
เป็นผู้มีแนวทางการหยุดยั้งภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยใช้ความรู้และการศึกษามาเป็นตัวนำ ในยุคสงครามเย็น โดยเห็นว่าการจะหยุดคอมมิวนิสต์ได้ต้องอาศัยการร่วมสร้างความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการให้ความรู้และการศึกษา ซึ่งการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศก็เป็นหนึ่งในการสนองนโยบายดังกล่าว
พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ในวิดีทัศน์ “30 ปี แห่งความหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อเดือนมิถุนายน 2540 และตีพิมพ์ในสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 เดือนสิงหาคม-กันยายน 2540 ว่า
“ประเทศไทยได้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคม เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาญาณสูงส่ง สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น หรือเป็นอาณานิคมของต่างด้าวได้ อย่างไรก็ตามเราก็ยังขาดความสะดวกหรือสิ่งต่างๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ มีชีวิตที่ก้าวหน้า และสิ่งที่จะแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในโลกได้ สิ่งนี้คือการศึกษา เพราะฉะนั้นผมจึงมุ่งที่จะทำให้เกิดมีศูนย์การศึกษาระดับสูง ไม่ใช่ระดับประถมหรือมัธยม แต่นี่เป็นการก่อตั้งศูนย์การศึกษาระดับสูง คือในระดับมหาวิทยาลัย”