คณะแพทย์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการพร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2561


1 ส.ค. 2561

คณะแพทย์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการพร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2561 แพทย์หญิงพรทิพย์ เพชรมณี “เพชรน้ำดี แห่งโรงพยาบาลเทพา”  เผยสิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่ในใจ ในการทำหน้าที่ของ “แพทย์” คือ ความตั้งใจและความใส่ใจในความเป็นคนของผู้ป่วย การให้เกียรติผู้ป่วย รวมถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

01.jpg

วันนี้ (1 สิงหาคม 2561) ณ ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุดคณะแพทยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ จัดงานประชุมวิชาการคณะแพทยศาสตร์ ประจำปี ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 1 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561  พร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2561 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นประธานเปิดงานพร้อมด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ , แพทย์หญิงพรทิพย์ เพชรมณี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเทพา แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2561 และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

สำหรับงานประชุมวิชาการคณะแพทยศาสตร์ ประจำปี ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 1 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ก็จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนทั่วไป และผู้สนใจ

IMG_3797.jpg

ภายในงานก็มีการมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ให้แก่แพทย์ที่ทุ่มเท และปฏิบัติตนเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเต็มที่ ซึ่งควรแก่การเชิดชูเกียรติและเผยแพร่คุณงามความดี  ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2561 ได้แก่  แพทย์หญิงพรทิพย์  เพชรมณี  “เพชรน้ำดี แห่งโรงพยาบาลเทพา”   

แพทย์หญิงพรทิพย์ เพชรมณี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเทพา เปิดเผยว่า  ตอนนั้นสอบติดแพทย์ แต่ไม่ได้ตั้งใจเรียนแพทย์ในตอนแรก แต่ตั้งใจจะเรียนคณะพยาบาล เนื่องด้วยกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน แต่อาจารย์แนะแนวให้เลือกอันดับ 1 ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบรับตรงของมอ. เป็นคณะแพทย์ไปก่อน สุดท้ายเมื่อสอบติดเครียดมากทั้งบ้าน แต่โชคดีที่มีหลายๆฝ่าย นับตั้งแต่คนรู้จักและไม่รู้จักที่รู้ว่าสอบติด คอยให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมให้เรียน ไม่ยอมให้สละสิทธิ จึงได้เรียนจนจบโดยได้รับทุนยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและทุนค่าใช้จ่ายรายเดือนจากบุคคลและมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่บริจาคผ่านคณะแพทย์และมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์”

IMG_3822.jpg

แพทย์หญิงพรทิพย์ เพชรมณี

​การตรวจรักษาคนไข้ทั่วไปอาจยากในเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การทำให้คนไข้และญาติเข้าใจเรื่องภาวะที่เกิดและการรักษา ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลชุมชน ความยากคือการเข้าถึงผู้ป่วย เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพแบบที่ดีต่อคุณภาพชีวิตด้วย ส่วนการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ยากเพิ่มขึ้นตรงที่ต้องดูทั้งแม่และลูก บวกกับการดูเด็กในท้องซึ่งไม่ได้เห็นแบบชัดเจนอยู่ตรงหน้า รวมถึงการเข้าถึงญาติของหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรณีที่ท้องและมีความเสี่ยงสูงๆ เพราะต้องรองรับกับความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติด้วย  สำหรับงานแพทย์ทางเลือกฝังเข็ม นั้นอาจไม่ยากนัก เพราะได้ทำความตกลงกับผู้ป่วยตั้งแต่ต้นๆว่าให้ลองดูว่าจะได้ผลหรือไม่ ทั้งหมดทั้งมวลในการดูแลผู้ป่วยสิ่งที่ได้ คือ ความสุขที่เห็นผู้ป่วยมีความสุขไม่ว่าเค้าจะหายป่วยหรือไม่ก็ตาม 

สิ่งที่ทำให้เราทุ่มเทกับการทำงานได้มากขนาดนี้ได้อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่ทำงาน บวกกับมีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น มีทีมดีมีชัยไปกว่าครึ่งและทำงานง่ายขึ้นมาก เพราะแรงผลักดันในการทำงาน คือ “รอยยิ้มของคนไข้” บวกกับการคิดว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเป็นการใช้กำไรชีวิตเท่านั้น เพราะต้นทุนชีวิตหมดไปตั้งแต่ป่วยหนักเมื่อ 15 ปีก่อนแล้ว ดังนั้นกำไรนี้ขอใช้ให้เต็มที่

“สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่ในใจ ในการทำหน้าที่ของ “แพทย์” คือ ความตั้งใจและความใส่ใจในความเป็นคนของผู้ป่วย การให้เกียรติผู้ป่วย รวมถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

​ในการทำงานอาจจะเจอปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่ด้วยในการทำงานเป็นการทำงานเป็นทีม ดังนั้น เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคจึงมีคนช่วยคิดช่วยแก้อยู่แล้ว หรือบางครั้งอาจมีกัลยาณมิตรนอกทีมมาช่วยด้วย ซึ่งมักเป็นคนในชุมชนนั้นๆ ถ้าปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้อาจต้องวางไว้ก่อน บางครั้งเมื่อถึงเวลาจะช่องทางให้ทีมเห็นได้เอง  แต่ถ้าเป็นเรื่องคับข้องใจผู้ที่เป็น ventilator หรือรับรู้รับฟังคือพ่อกับแม่ ซึ่งทำหน้าที่นี้ให้มาตั้งเล็กจนปัจจุบัน

การทำงาน (2).JPG

​สิ่งที่อยากเห็นในระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต คือ อยากเห็นการดูแลตนเองได้ของคนเรา เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน เน้นที่การดูแลแบบป้องกันมากกว่าการรักษา

“อยากเห็นหมอที่เป็นคน ที่มองคนไข้เป็นคนไม่ใช่โรคและมองทุกอย่างรอบด้านเพราะคนและชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว และอยากให้หมอมีความสุขในการทำงาน”

​การได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกได้รับเกียรติอย่างสูงและภูมิใจมากทั้งต่อตัวเองและครอบครัว ขอบคุณพ่อ แม่และน้องสาว อ.สาธิมน หิรัญยากาศ   อาจารย์ทุกท่าน ผู้มีอุปการคุณที่ให้ทุนการศึกษา ขอบคุณนายแพทย์ เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการรพ.เทพาที่เสนอชื่อในการเข้ารับรางวัลในครั้งนี้ และขอบคุณกัลยาณมิตรทุกคนที่ทำให้เป็น พญ. พรทิพย์ ในทุกวันนี้

พญ (2).JPGIMG_3790.jpgIMG_3750.jpgIMG_3740.jpgIMG_3767.jpgIMG_3824.jpgIMG_3732.jpg