นางเงือก สัญลักษณ์แห่งสงขลาคุณค่าคู่หาดสมิหลา
รูปปั้นนางเงือก ถ้าเป็นคนสงขลา คนเคยมาเที่ยวสงขลา หรือคนที่พอรู้จักจังหวัดสงขลา เชื่อว่าทุกคนจะรู้จักนางเงือก นางเงือกทองสาวสวยในท่านั่งหวีผมบนโขดหินริมหาดสมิหลา ชายทะเลอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา นางเงือก ถูกสร้างให้อยู่คู่หาดสมิหลามาตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2509 ในยุคจังหวัดสงขลา มีผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อ หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่
จากปี 2509 จวบจนปัจจุบัน แทบไม่น่าเชื่อว่านางเงือกจะคงทนสวยงามคู่เมืองสงขลาได้ยาวนานเช่นนี้ โขดหินที่อยู่ติดทะเล บางปีก็คลืนลมแรง ฝนตักหนัก พายุพัดกระหน่ำ พื้นที่ชายทะเล ชายหาดได้รับความเสียหาย แต่แทบไม่มีข่าวคราวความเสียหายเกี่ยวกับนางเงือกเลย จนมีผู้คนบางคนคิดว่านางเงือกศักสิทธิ์เลยมีการนำผ้ามาถูก มาลัยมาคล้อง สิ่งของมาถวาย แต่ถูกปรามเพราะอากให้ผู้คนได้มองเห็นนางเงือกในสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวมากกว่า
นางเงือก ยังมีเรื่องเล่าขานกันเล่นๆ ว่าหากชายใดอยากมีเมียเป็นคนสงขลาให้มาจับนมและขอพรจากนางเงือกแล้วจะสมหวัง ทุกคนที่มาเยือนหาดสมิหลาในยุคสมัยปัจจุบัน เชื่อแน่ว่าท่านจะต้องมีภาพถ่ายคู่นางเงือก แม้แต่ผู้เขียนที่เกิดสงขลาแต่ทุกครั้งที่ไปสงขลาย่านหาดสมิหลา จะต้องเดินไปดูนางเงือก เดินไปชมความงามของเธออยู่เสมอ ในวันที่ทราบข่าวว่าเธอโดนทำร้ายจึงรู้สึกใจหาย รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับชาวสงขลาและผู้คนอีกจำนวนมาก
พร้อมทั้งมีข้อสงสัยในใจว่าทำนางเงือกทำไม นางผู้มีแต่รอยยิ้มและมิตรไมตรีต่อทุกผู้คนที่มาเยือนสงขลา เชื่อแน่ว่าผู้กระทำจะได้รับผลของกรรมชั่วในเร็ววัน และหวังว่าอีกไม่นาน นางเงือก จะกลับมาสวยสง่าคู่ริมหาดสมิหลา ทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนเมืองของเราต่อไป
บทความในโอกาสครบรอบ 50 ปีนางเงือก (เงือกทองหาดสมิหลา สัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา ผ่านกาลเวลา 50 ปี ก็ยังคงงดงามไม่เปลี่ยน)
ถ้ามาถึงสงขลาแล้วไม่ได้เยือนหาดสมิหลาย่อมถือว่ามาไม่ถึง เพราะที่นี่คือซิกเนอเจอร์ของเมืองสงขลาที่ทุกคนต้องมาแวะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หาดสมิหลาเป็นชายหาดที่มีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล ทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า "ทรายแก้ว" ร่มรื่นด้วยป่าสน และจากหาดสมิหลายังสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนูเกาะแมว อีกทั้งบริเวณหาดยังมีสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียง นั่นก็คือ รูปปั้นนางเงือกทอง ที่ทุกคนต้องแวะมาถ่ายภาพเก็บไว้
รูปปั้น นางเงือกทอง ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยความคิดริเริ่มของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลา ในสมัยนั้น
เงือก ความหมายโดยทั่วไปที่คนจะนึกถึงคือ หญิงสาวที่มีร่างกายท่อนล่างเป็นปลา อาศัยอยู่ในน้ำ เรื่องเล่าของนางเงือกนั้น ยังมีการกล่าวถึงไว้มากมายในหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยก็มีการกล่าวถึงนางเงือกไว้ในบทประพันธ์ต่างๆ อีกด้วย เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายมากที่สุด คือ เงือกในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่กวีในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาล ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จากแผ่นจารึกที่ประติมากรรมนางเงือกทอง กล่าวไว้ว่า “ รูปปั้นนางเงือกนี้ สร้างขึ้นในปี 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้ อาจารย์ จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ปั้นหล่อจากบรอนขรมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า “ เงือกทอง” (GoldenMermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้ นางเงือก เป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ เอกกวีสมัยรัชกาลที่ 2 ( พ.ศ. 2352 - 2367 )
ตามคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นั้น นิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย”
เมื่อปั้นและหล่อเสร็จแล้วได้นำมาตั้งบนโขดหินที่แหลมสมิหลา(หาดสมิหลา) และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลา(หาดสมิหลา) จังหวัดสงขลามาจนทุกวันนี้
เรื่องเล่าของนางเงือกหาดสมิหลา ยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ เชื่อกันว่าถ้าชายใดได้มาจับนมนางเงือกที่สมิหลาแล้ว ก็จะได้คู่ครองเป็นคนสงขลา เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางขนส่งจังหวัดสงขลายังได้นำนางเงือกหาดสมิหลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ให้อยู่ในป้ายทะเบียนประมูลของจังหวัดสงขลา อีกด้วย
ปัจจุบัน(พ.ศ.2560) เงือกทอง ก็มีอายุกว่า 50 ปี ผ่านแดด ผ่านฝน ผ่านมรสุม อยู่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาวนาน ผู้คนมากมายแวะเวียนมาถ่ายรูปเก็บภาพความประทับใจ ว่าครั้งหนึ่งเคยได้มาเยือนสงขลา แม้จะเวลาผ่านไปนานเท่าไร เงือกทอง ชายหาดสมิหลา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติก็จะรอต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนจังหวัดสงขลาตลอดไป
ต้อม รัตภูมิ รายงาน